วิธีดูแลผู้ป่วย โรคไข้เลือดออก เบื้องต้น

โรคไข้เลือดออก เรารู้กันดีอยู่แล้วว่าสามารถแพร่ได้โดยมียุงลายเป็นพาหะของไวรัสที่ชื่อว่า ไวรัสเดงกิ ซึ่งมีอยู่ 4 สายพันธุ์ด้วยกัน ซึ่งในแต่ละปีนั้นก็มีผู้ที่ป่วยเป็นไข้เลือดออกจำนวนมากจึงถือเป็นปัญหาใหญ่ด้านสาธารณสุข ซึ่งโรคนี้หากเป็นแล้วหากมีอาการรุนแรงก็อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

อาการ โรคไข้เลือดออก แบ่งได้เป็น 2 ประเภทตามความรุนแรง

  1. โรคไข้เดงกี

อาการที่พบในผู้ป่วย โรคไข้เดงกี ก็คือ มีผื่นขึ้นคล้ายโรคหัด ปวดศีรษะ ปวดเบ้าตา ปวดกระดูก หรือปวดตามข้อต่อ อาจมีภาวะเลือดออกหรือไม่มีก็ได้

  1. โรคไข้เลือดออก

นอกจากจะมีอาการเหมือนโรคไข้เดงกีแล้ว ก็ยังมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วยดังนี้

  • ไข้เพิ่มสูงแบบเฉียบพลันเกิน 38 องศาเซลเซียสนาน 2-7 วัน
  • มีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน
  • มีอาการปวดท้องรุนแรง กดชายโครงด้านขวา
  • หน้าแดง อาจจะมีจุดเลือดแดง ๆ ขึ้นตามผิวหนัง หรือมีเลือดออกเช่น ปัสสาวะ อุจจาระมีเลือดปน เลือดกำเดาไหล เป็นต้น

ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง และมีไข้หลายวันอาจจะทำให้เกิดภาวะช็อก และเข้าสู่ระยะที่เรียกว่า กลุ่มอาการไข้เลือดออกช็อกได้ ซึ่งจะมีอาการ ปลายมือปลายเท้าเย็น ความดันโลหิตลดต่ำ วัดชีพจรไม่ได้ รู้สึกกระสับกระส่าย ปัสสาวะน้อยลง

หากไม่มีอาการช็อก หลังจากไข้สูง 2-7 วัน ระบบไหลเวียนโลหิตเริ่มเป็นปกติ ชีพจรเริ่มคงที่ ไข้ลดลง หลังจากนั้นอีกประมาณ 3 วัน ก็จะเริ่มหายเป็นปกติ อาการต่าง ๆ จะดีขึ้น เริ่มรับประทานอาหารได้ ตุ่มแดงหรือผื่นแดงก็จะเริ่มจากลง

การดูแลผู้ป่วย โรคไข้เลือดออก เบื้องต้น

การดูแลผู้ที่เป็นไข้เลือดออกเบื้องต้นที่สามารถทำได้ที่บ้านกมีดังนี้

ลดไข้ด้วยการเช็ดตัว – ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นบิดหมาด ๆ แล้วเช็ดที่หน้า คอ หลังหู แล้วประคบตามข้อพับต่าง ๆ เช่น ซอกคอ รักแร้

ดื่มน้ำให้มาก – การดื่มน้ำมาก ๆ สามารถช่วยลดไข้ได้ แต่หากผู้ป่วยมีอาการอาเจียน ควรจิบน้ำเกลือแร่เพื่อลดอาการอ่อนเพลีย

ทานยาเพื่อลดไข้ – ผู้ป่วยสามารถทานยาพาราเซตามอลเพื่อลดไข้ได้ แต่ห้ามใช้ ยาลดไข้ที่มีส่วนผสมของแอสไพริน หรือ ibuprofen เป็นอันขาด

หากพบว่าผู้ป่วย โรคไข้เลือดออก มีอาการรุนแรงเช่น ปวดท้องบริเวณชายโครงขวามาก มือเท้าเย็น ตัวเย็น อาเจียน เลือดออก ซึม ไม่ค่อยรู้สึกตัว ไม่ปัสสาวะนานเกิน 6 ชั่วโมง ให้รีบพามาพบแพทย์โดยทันที

การที่พาผู้ป่วย โรคไข้เลือดออก ไปพบแพทย์อย่างรวดเร็วจะเป็นผลดีที่สุด เพราะหากได้รับการวินิจฉัยโรคตั้งแต่ในช่วงระยะแรก หากมีอาการฉุกเฉินแพทย์จะได้ดูแลติดตามอาการได้อย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันไม่ใช้คนไข้เกิดภาวะช็อกได้