ยาแก้แพ้ทานบ่อยๆทำให้สมองเสื่อมได้จริงไหม?

“ยาแก้แพ้” ถือว่าเป็นยาสามัญประจำบ้าน ช่วยบรรเทาอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ผื่นคัน ช่วยอาการแพ้แบบไม่บ่งชี้ ทำให้หลายคนทานแบบไม่ใส่ใจผลข้างเคียง ซึ่งยาแก้แพ้ทานบ่อยๆสามารถทำร้ายร่างกายเราได้ มาทำความรู้จักยาแก้แพ้และข้อควรระวังการใช้ยาแก้แพ้กัน

ยาแก้แพ้ คืออะไร ? 

ยาแก้แพ้เป็นยาที่ใช้ป้องกันหรือบรรเทาอาการแพ้ เมื่อเราได้รับสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้เข้ามาในร่างกาย สารเหล่านี้จะไปกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสารฮิสตามีน (histamine) ซึ่งจะทำให้เกิดอาการแพ้ขึ้นในร่างกาย เช่น น้ำมูกหรือน้ำตาไหล เยื่อตาอักเสบ ผื่นคันตามผิวหนัง ยาแก้แพ้จะเข้าไปยับยั้งการออกฤทธิ์ของสารฮิสตามีนและบรรเทาอาการแพ้ได้ 

ข้อควรระวังการใช้ยาแก้แพ้ 

  • ไม่ควรใช้ยาติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน 
  • ผู้ที่ต้องทำงานเกี่ยวกับการควบคุมเครื่องจักรหรือขับรถ ไม่ควรใช้ยาแก้แพ้ชนิดที่ทำให้ง่วง 
  • ห้ามใช้ยาแก้แพ้ร่วมกับยากล่อมประสาท ยานอนหลับ หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ 
  • ระวังการใช้ในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 6 ขวบ เพราะอาจทำให้เกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ 
  • หญิงมีครรภ์และหญิงให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งก่อนใช้ยา 
  • ผู้มีโรคประจำตัวโรคตับ โรคไต โรคหืด โรคความดันโลหิตสูง 
  • ไม่ควรรับประทานร่วมกับยานอนหลับ ยาต้านอาการซึมเศร้า เพราะยากลุ่มนี้มีฤทธิ์กดระบบประสาท จะยิ่งไปเสริมการกดประสาทมากขึ้น 

ยาแก้แพ้ ทำให้สมองเสื่อมจริงหรือไม่ ? 

ยาแก้แพ้ไม่ได้เป็นสาเหตุที่จะทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมโดยตรง แต่เกิดจากการรับประทานยาหลายชนิดที่มีฤทธิ์กดประสาทแล้วเกิดผลข้างเคียงของยาที่จะไปกดการทำงานของสมองทำให้รู้สึกตื่นตัว รู้ตัวรู้เรื่องต่าง ๆ ลดลง เพราะฉะนั้นคนที่รับประทานยาหลายชนิดร่วมกันหรือเป็นวัยที่ไม่เหมาะกับการรับประทานยาที่มีฤทธิ์กดประสาทและสมอง เช่น ผู้สูงอายุ จะรู้สึกลืมไปช่วงขณะที่ยาออกฤทธิ์ ความตั้งใจหรือสมาธิในการเรียนรู้หรือจดจำบางอย่างลดลง จึงคล้ายกับภาวะสมองเสื่อม  

วิธีป้องกันอย่างไรไม่ให้เกิดภาวะสมองเสื่อมจากยาแก้แพ้ 

  • หลีกเลี่ยงการรับประทานยาแก้แพ้โดยไม่จำเป็น 
  • ควรรับประทานยาแก้แพ้เมื่อมีข้อบ่งชี้ตามลักษณะของอาการ 
  • หากมีโรคประจำตัวหรือมียาอื่น ๆ ที่รับประทานเป็นประจำ ควรปรึกษาแพทย์ก่อ 

ถึงแม้ว่าเราจะคุ้นเคยกับยาแก้แพ้ จนบางคนพกติดตัวตลอด แต่ขึ้นชื่อว่ายาย่อมเป็นอันตรายหากรับประทานอย่างต่อเนื่องและไม่ถูกต้อง ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนรับประทานยาจะดีที่สุด