คุณพ่อคุณแม่หลายคนที่ละเลยการนอนกลางวันของลูก ลูกไม่ยอมนอนก็ไม่เป็นไร แต่คุณทราบไหมว่าการนอนกลางวันนั้นสำคัญกับเด็กอย่างมาก การนอนที่ไม่เพียงพอจะส่งผลต่อเด็กทั้งด้านอารมณ์ สมอง พัฒนาการ เรามาดูกันว่าการนอนกลางวันของเด็กมีประโยชน์ต่อตัวเด็กอย่างไรบ้าง จะได้หันมาใส่กันเรื่องนี้กันมากขึ้น
การนอนกลางวัน” สำคัญกับลูกน้อยยังไง?
โดยปกติแล้วเด็กต้องมีชั่วโมงการนอนที่มากกว่าผู้ใหญ่ ดังนั้น การนอนแค่ในช่วงกลางคืนจึงอาจไม่เพียงพอ และต้องนอนกลางวันเพิ่ม การนอนหลับที่เพียงพอจะส่งผลต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของลูก โดยช่วงที่หลับสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับความจำจะทำงาน เพื่อทบทวนสิ่งที่ได้เรียนรู้มาและเกิดการเชื่อมโยงของเซลล์สมองมากขึ้น ทำให้ลูกมีความจำที่ดี สมองมีการเจริญเติบโตได้ดี
ตารางการนอนของเด็กแต่ละช่วงวัย
- วัยแรกเกิด – 1 ปี จะมีเวลาการนอนที่ 10-15 ชั่วโมง/วัน ซึ่งแนะนำว่าต้องนอนตอนกลางวันทั้งช่วงเช้าและช่วงบ่าย
- อายุ 4 เดือน จะเริ่มหลับกลางคืนได้ยาวประมาณ 6 ชั่วโมง
- อายุ 6 เดือน จะหลับได้นานถึง 10 ชั่วโมง แต่ก็ยังสามารถตื่นได้ในระหว่างการนอนหลับ
- ลูกวัย 1-2 ปี ควรนอนอย่างน้อย 11-14 ชั่วโมง/วัน
- วัยอนุบาล (3-5 ปี) ควรนอนอย่างน้อย 10-12 ชั่วโมง/วัน โดยจะเหลือการนอนกลางวันแค่ในช่วงบ่ายที่โรงเรียนเท่านั้น
ประโยชน์ของการที่ลูกนอนกลางวันอย่างเพียงพอ
การนอนกลางวัน จะช่วยให้ลูกมีความจำดีและเรียนรู้ได้ดีขึ้น รวมทั้งภาวะทางอารมณ์และสุขภาพก็ดีขึ้นด้วย ดังนี้
1.ช่วยเรื่องการเรียนรู้ มีการทดสอบพบว่าในวัยอนุบาล เด็กที่นอนหลับกลางวันสามารถเล่นเกมเกี่ยวกับความจำได้ดีกว่า การได้พักร่างกายและจิตใจจากการนอนจะส่งผลให้สามารถจดจำ คิด หรือสร้างสัมพันธ์อันดีกับเพื่อนได้
2.เสริมสร้างสุขภาพ ไม่เป็นโรคอ้วน เนื่องจากโดยธรรมชาติแล้วหากลูกน้อยนอนหลับไม่เพียงพอ ก็มักจะกินอาหารเพิ่มขึ้นด้วย ที่สำคัญคือ เมื่ออ่อนเพลียจากการพักผ่อนน้อย ลูกก็จะไม่มีแรงวิ่งเล่นออกกำลังเพื่อเสริมสร้างพัฒนาการทางร่างกาย
3.ช่วยให้ลูกอารมณ์ดี หนึ่งในสาเหตุของการที่ลูกน้อยงอแงเนื่องมากจากการนอนไม่พอ มีการศึกษาพบว่า เด็กอายุ 2 ปี ที่ไม่ได้นอนกลางวันอย่างสม่ำเสมอ จะมีความวิตกกังวลมากกว่าและแสดงออกเมื่อเจอเหตุการณ์ที่ไม่พอใจได้แย่กว่าเด็กที่นอนหลับกลางวันเป็นประจำ
ทั้งนี้ หากลูกน้อยไม่ได้นอนตอนกลางวัน ซึ่งอาจากระทบต่อจำนวนเวลาทั้งหมดที่ควรได้นอนหลับพักผ่อนใน 1 วัน หรือลูกนอนไม่เพียงพอ จะส่งผลเสียต่อพัฒนาการและอารมณ์ของลูก เชื่อมโยงไปสู่การที่การเรียนรู้แย่ลงไปด้วย